เศรษฐศาสตร์น่ารู้

เศรษฐศาสตร์น่ารู้
28/02/2546
เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) ความหมาย :
    UNESCO ได้จัดกลุ่มของสาขาวิชาไว้ด้วยกัน 8 กลุ่ม คือ
    1. สังคมศาสตร์
    2. การศึกษา
    3. มนุษยศาสตร์
    4. วิทยาศาสตร์
    5. วิศวกรรมศาสตร์
    6. เกษตรศาสตร์
    7. แพทยศาสตร์
    8. วิจิตรศิลป์
    เศรษฐศาสตร์ ถือเป็นแขนงวิชาหนึ่งทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษาถึงการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อสนองความต้องการอย่างไม่มีจำกัดของมนุษย์ ทั้งนี้การศึกษาเพื่อตัดสินใจดังกล่าวมีทั้งระดับย่อยและระดับภาพรวม การศึกษาในระดับย่อยจะเป็นสาขาหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า เศรษฐศาสต์จุลภาค (Microeconomics) ที่มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจเพียงบางกิจกรรม เช่น การตัดสินใจในการเลือกดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ส่วนการศึกษาในระดับภาพรวมจะเป็นอีกสาขาหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) ซึ่งจะเน้นไปที่พฤติกรรมโดยรวมของผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น พฤติกรรมโดยรวมของผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้ใช้แรงงาน ส่งผลอย่างไรต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น ตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สนใจจึงเป็นลักษณะของตัวแปรในเชิงมวลรวม (Economic aggregate) เช่น ระดับการจ้างงานทั้งหมด รายได้ประชาชาติ ระดับรายได้เฉลี่ย ระดับราคาทั่วไป งบประมาณรัฐบาล การเงินการธนาคาร อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ
  กำเนิดเศรษฐศาสตร์มหภาค :
    วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคได้เริ่มเข้ารูปเข้ารอยภายหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ John Maynard Keynes (ค.ศ. 1883 - 1946) ผู้มีความคิดริเริ่มนำวิชาเศรษฐศาสตร์ขยายแนวคิดไปสู่เศรษฐศาสตร์มหภาค ได้เขียนหนังสือชื่อ "The General Theory of Employment, Interest and Money" ในปี ค.ศ. 1936 ซึ่งตรงกับช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักทั่วโลก (The Great Depression) ในราวปี ค.ศ. 1930 - 1940 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 ของแรงงานทั้งหมด หนังสือที่ Keynes เขียนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของหลายประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีการนำเอาเรื่องของรายได้ การบริโภค การออม การลงทุน และการจ้างงานเข้ามาร่วมในการพิจารณา แนวคิดนี้ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงสามารถถือได้ว่า Keynes คือบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาคโดยแท้
 John Maynaed Keynes
ทำไมจึงควรศึกษาเศรษฐศาสตร์มหาภาค :
    การศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคจะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงปรากฎการณ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น และสามารถนำเอาแนวคิดและทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคไปใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบการวิเคราะห์ตัดสินใจบริหารงานด้านต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเพื่อให้บรรลุความสำเร็จมวลรวมในด้านต่างๆ ดังนี้
    1. ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Progress)
    2. ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Stability)
    3. ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Justice)
    4. ความมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom)
วิธีที่ใช้ในการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์มหภาค :
    จากที่ทราบแล้วว่า เศรษฐาสตร์เป็นแขนงวิชาหนึ่งทางสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของมุนษย์ได้ พฤติกรรมดังกล่าวค่อนข้างมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงต้องตีกรอบการศึกษาของตัวเองให้แคบลง โดยยึดหลักการในการศึกษาภายใต้ข้อสมมติที่ว่า มนุษย์ประพฤติตนอย่างมีเหตุมีผล (people act rationality) ทั้งนี้การศึกษาในทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากความเป็นไปของพฤติกรรมประชาชนในสังคมนั่นเอง วิธีการที่นิยมใช้ในการศึกษามีดังนี้
    1. ตั้งสมมติฐานและหาเหตุผลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ โดยอาศัยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ (historical approach) และวิธีการเชิงอนุมาน (deductive method) อย่างมีเหตุมีผลอันควร
    2. ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ที่ถูกนำมาตั้งเป็นสมมติฐานว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ โดยอาศัยวิธีการทางสถิติเข้าช่วย เมื่อทดสอบแล้วว่าตัวแปรดังกล่าวสัมพันธ์กันจริงอยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ ก็จะถูกตั้งเป็นกฎหรือทฤษฎีขึ้น
    3. พิสูจน์กฎหรือทฤษฎีที่มีผู้คิดขึ้น วิเคราะห์หาเหตุผลอื่นๆ อีก ว่ากฎหรือทฤษฎีนั้นยังถูกต้องหรือไม่ โดยอาศัยวิธีการเชิงอุปมาน (inductive method) หากพบว่าไม่เป็นจริงจะได้เปลี่ยนแปลงกฎหรือทฤษฎีนั้นให้ถูกต้องต่อไป เพื่อที่นักเศรษฐศาสตร์จะได้นำเอากฎหรือทฤษฎีที่ผ่านการทดสอบแล้ว ไปใช้ในการอ้างอิงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงได้